หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผู้เฒ่ากูย หมิว ศาลางาม ปราชญ์หมอเมืองสุรินทร์







ผู้เฒ่ากูย หมิว ศาลางาม
ปราชญ์หมอช้างเมืองสุรินทร์
     การจับช้างป่า หรือการโพนช้าง ของหมอช้างเมืองสุรินทร์ เป็นภาพที่ผู้คนสมัยนี้อาจไม่เคยได้พบเห็น 
ไม่เคยรู้ในขั้นตอนและวิธีการต่างๆ ว่ามีความน่าสนใจและน่าศึกษาเพียงใดผู้เฒ่าหมิว ศาลางาม 
ผู้สืบทอดตำแหน่งหมอช้างรุ่นสุดท้าย ได้เล่าให้ “คนในวัฒนธรรม” ฟังเมื่อวันเปิดงาน “สยามใหม่จาก
มุมมองท้องถิ่น” วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อย่างน่าตื่นเต้น
   เพียงคำบอกกล่าวจากนักปราชญ์ผู้มากวิชาเรื่องของช้างป่า มิได้สร้างความตื่นเต้นและความใคร่รู้แก่
ผู้ฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่เรื่องราวต่างๆ ยังสร้างจินตนาการให้เห็นถึงภาพความอุดมสมบูรณ์
 และความมั่งครั่งทางทรัพยากรธรรมชาติ อันได้แก่ ผืนป่า ภูเขา ลำเนาไพร และสัตว์ป่านานาชนิด
ในอดีตกาลที่ผ่านพ้น ซึ่งไม่อาจเห็นภาพจริงเหล่านั้นได้ในปัจจุบันนี้
     หมิว ศาลางาม ผู้เฒ่าวัย 85 ปี ชาวกูยอาเจียง หรือชาวกูยเลี้ยงช้าง แห่งบ้านตากลาง ตำบลกระโพ 
อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ หนึ่งในบรรดาหมอช้างเพียงไม่กี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้บอกเล่าให้เราฟังว่า
     “การจะมาเป็นหมอช้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  ผู้ที่จะมาจับช้างป่าต้องเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาวิชาการ
จับช้างมาอย่างดี ต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ ทรหดอดทน และมีไหวพริบ การจับช้างป่ารวมถึงการ
ใช้ชีวิตในป่าลึกเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก มีอันตรายอยู่รอบด้าน ทั้งจากช้างป่า หมี และเสือที่ดุร้าย
 หากความสามารถไม่เพียงพอ อาจเพรี้ยงพร้ำถึงตายได้”
     ครั้งเมื่อดินแดนภาคอีสานตกเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ ชาวกูยมีภาระที่จะต้องจับช้างป่า
ส่งให้ส่วนกลางเพื่อฝึกใช้ในการสงคราม  แหล่งที่ชาวกุยไปคล้องช้างกันมากที่สุด คือ ป่าในดินแดน
ประเทศกับพูชา (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุดรมีชัย และจังหวัดกำปงธม ประเทศกับพูชา)
 เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มีช้างชุกชุมมาก และไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการจับช้างในป่าแถบนี้
     ตาหมิวในวัยอายุ 15 ปี (ราว ๆ ปี 2484) ได้จับช้างเป็นครั้งแรกในตำแหน่ง “มะ” ให้กับครูบา  
ซึ่งเด็กหนุ่มขอสมัครเป็นผู้ช่วยหมอช้างที่ยังไม่ผ่านพิธีการแต่งตั้ง ผู้ทำหน้าที่ “มะ” 
จะนั่งอยู่ตอนท้ายของช้างต่อทุกเชือก ใครอายุน้อยๆ จะไม่ได้รับการคัดเลือก ต้องเป็นผู้ที่แข็งแรงพ
ที่จะยกของหนักได้เท่านั้น
     “ตอนนั้นมีช้างต่อไปด้วยกันประมาณ 50 เชือก ตาจับครั้งแรกได้ช้างป่ามา 2 ตัว ครั้งที่ 2 
ได้มาอีก 3 ตัวกลับมาครูบาใหญ่ก็ทำพิธีปะชิหรือการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหมอสะเดียง
 พอได้เป็นหมอสะเดียงก็ได้ไปจับช้างป่าอีก 3 ครั้ง ไปจับไกลถึงเขตป่าเขมร โน้น 
เรียกว่า “เพว็ย ซังอาด” เป็นป่าใหญ่มาก  ขบวนช้างของเราทั้งช้างต่อและช้างป่า รวมกันเป็นร้อยๆ เชือก 
 ได้ช้างป่ากลับมาอีกครั้งละหนึ่งตัว ครูบาก็เลื่อนตำแหน่งให้”
     ลำดับชั้นของหมอช้างเริ่มด้วยตำแหน่ง “มะ”  ผู้ช่วยช้างต่อ และเมื่อได้รับการแต่งตั้งจะได้เลื่อนขั้นเป็น
 “หมอจา” คือ หมอใหม่ที่ผ่านพิธีชิและได้รับการแต่งตั้งแล้วแต่ยังจับช้างไม่ได้เลย และเมื่อจับช้างได้
 1 – 5 ตัว จะได้เลื่อนขั้นเป็น “หมอสะเดียง” (หมอเบื้องซ้าย) และเมื่อจับได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 6 -10 ตัว
 จะได้เลื่อนขั้นเป็น  “หมอสะดำ” (หมอเบื้องขวา) และสู่ตำแหน่งสูงขึ้น“ครูบา” คือหมอช้างที่ได้รับการ
แต่งตั้งจากครูบาใหญ่หรือกำลวง ให้เป็นหัวหน้าขบวนช้างต่อ และตำแหน่งที่สูงสุด คือ “ครูบาใหญ่”
 หรือ “กำลวงปืน” ผู้ที่สามารถจับช้างป่าได้ตั้งแต่ 15 ตัวขึ้นไป เป็นตำแหน่งหมอช้างที่ทรงเกียรติ
 และมีเพียงคนเดียวเท่านั้น ครูบาใหญ่จะเป็นผู้ที่สามารถจัดพิธีกรรมต่างๆ ได้ เป็นบุคคลที่หมอช้าง
ต่างให้ความเคารพและเชื่อฟัง
     ฟังแล้วก็คิดถึงระบบเลื่อนชั้นตำแหน่งของข้าราชการไทยเสียยิ่งกระไร ที่ท่านๆทั้งหลายมียศถา
บรรดาศักดิ์ตำแหน่งตามลำดับขั้นของประสบการณ์การทำงาน  อย่างเช่น ข้าราชผู้น้อยในระดับปฏิบัติการ
 สู่ระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ไล่ไปสู่ตำแหน่งเจ้าพ่อกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ
 นับว่ามีวิธีการที่ไม่แตกกันเท่าไหร่นัก แต่ที่สำคัญคือความเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ครองตำแหน่ง
นั้นๆ เป็นสำคัญเสียยิ่งนัก
     ปัจจุบันมีเพียงผู้เฒ่าหมิว คนเดียวที่ยังคงเป็นหมอช้างในตำแหน่งหมอสะดำเท่านั้น 
เพราะหมอช้างในชั้นตำแหน่งที่สูงกว่านี้ ได้ล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว
     การจับช้างแต่ละครั้งครูบาใหญ่ จะมีการประชุมหมอช้างทุกคน เพื่อดูฤกษ์ยามว่าจะไปที่ไหน
 เมื่อไหร่  พร้อมทั้งการเลือกช้างต่อที่แข็งแรง ซักซ้อมข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งการออกจับช้างป่าแต่ละครั้ง
 จะมีพิธีกรรมหลายขั้นตอน เช่น การเซ่นไหว้ผีปะกำที่ศาลปะกำของบ้านครูบา และการเสี่ยงทายจาก
กระดูกคางไก่ว่าจะมีผลสำเร็จหรือไม่ และยังมีอุปกรณ์และพิธีกรรมอีกมายที่หมอช้างจะถือปฏิบัติใน
ขนบธรรมเนียม และจารีตของคนจับช้าง
     หนังประกำ คือหนึ่งอุปกรณ์สำคัญ ในจำนวนของใช้สำหรับโพนช้างอีกกว่า 24 ชิ้น หนังประกำ
 ทำมาจากหนังกระบือสามเส้นนำมาฟั่นเป็นเกลียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร
 ยาว 30 – 40 เมตร ทำเป็นบวงบาศเสียบไว้ที่ปลายไม้ เรียกว่าไม้คันจาม ซึ่งใช้ในการคล้องช้าง
และดึงช้างป่าเอาไว้  ยามเมื่อใช้เสณ้จจะต้องเก็บรักษาไว้ในศาลประกำเท่านั้น
     ผู้เฒ่าหมิว ได้บอกกล่าวด้วยสีหน้าและแววตาที่เปลี่ยมไปด้วยความสุข ถึงวีรกรรมของชีวิตหมอ
ช้างว่า “ไม่มีอะไรสนุกมากกว่าไปจับช้างหรอก ขนาดงานบุญเดือนแปดว่าสำคัญ ผมยังไม่อยู่หมู่บ้านเลย 
มันอยู่ไม่ติดที่ ต้องตามครูบาไปในเขมรเพื่อจับช้างให้ได้”
     การจับช้างป่าค่อยๆ มีลดน้อยถอยลง เนื่องจากเมื่อมีการประกาศปิดชายแดนไทย-กำพูชา
 หลังกรณีพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศในราวปี 2500 และมีการประกาศพระราชบัญญัติ
คุ้มครองสัตว์ป่า ขึ้น  ทำให้อาชีพคล้องช้างจึงกลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
     ช้างที่เคยฝึกไว้เพื่อใช้ในการสงคราม และการเป็นช้างต่อ  ได้ถูกเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นแรงงาน
สำคัญในการทำป่าไม้ และเลี้ยงไว้เพื่อการทำงานต่างๆ ซึ่งชาวกูยอาเจียงก็เริ่มเลี้ยงช้างน้อยลง
 ทำให้การจับช้างป่าที่ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งบุรุษมีลดน้อยลงเช่นกัน 
     ผืนป่ารอบๆ หมู่บ้านที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ถูกแปลเปลี่ยนเป็นผืนนา ผืนไร่ ชีวิตชาวกูยเลี้ยงช้าง
ก็กลายเป็นชาวกูยนาหรือมีอาชีพทำนาเพิ่มมากขึ้น ช้างจำนวนมากถูกขายไปเพื่อยังชีวิตคนในครอบครัว 
 พิธีกรรมที่เคยมีเกี่ยวกับการจับช้างจึงค่อย ๆ ลบเลือนหายไป
    ภาพช้างนับร้อยเชือกในขบวนแห่ของเหล่าหมอช้างที่ต่างหึกเหิม ประกอบด้วยเสียงดนตรี
ประโคมก้องและการฟ้อนรำ คือการต้อนรับและร่วมแสดงความยินดีในภารกิจสำคัญของหนุ่มชาวกูย
 ในฐานะคนจับช้างผู้ลือลั่น เป็นภาพที่ ผู้เฒ่าหมิว ศาลางาม ยังคงจำได้ไม่เคยลืม 
และยังคงมีเรี่ยวแรงเล่าขานถึงความยิ่งใหญ่ของหมอช้างผู้กล้าหาญแห่งเมืองสุรินทร์ 
ให้ชนรุ่นหลังได้ร่วมรับรู้
     วันนี้แม้นภาพอันยิ่งใหญ่ได้จบสิ้นลงแล้ว แต่การได้พบบุคคลในวัฒนธรรมผู้มากด้วยประสบการณ์
ชีวิตท่านนี้ จะเป็นอีกหนึ่งของการสืบทอดตำนาน “คนจับช้าง” ที่จะกล่าวขานสืบไป
ออกรายการ ปราชญ์เดินดิน 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น