หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านช้างเเละงานเเสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์




  
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านช้างสุรินทร์



สุรินทร์ . . . ถิ่นช้างใหญ่
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๔๕๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม - โอร์เสม็ด เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางท่องเที่ยว ติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน 

จังหวัดสุรินทร์ได้รับการสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ว่า พื้นที่อันเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เดิมเคยมีชุมชนอาศัยอยู่เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมเรืองอำนาจ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไว้จนกลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. ๒๒๖๐ ชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า กวย หรือ กูย ซึ่งอาศัยอยู่แถบเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งานเป็นอย่างมาก ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยได้แยกย้ายกันไปตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านเมืองลีง (อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์) บ้านโคกลำดวน (อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) บ้านอัจจะปะนึ่ง (อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์) และบ้านกุดปะไท (อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์) โดยแต่ละบ้านจะมีหัวหน้าควบคุมอยู่ จนกระทั่งประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๐๐ บรรพบุรุษของชาวสุรินทร์ คือ เชียงปุม กับพวก ได้ใช้ภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์จับช้างเผือกแตกโรงจากกรุงศรีอยุธยา นำน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายคืนสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงได้รับบำเหน็จความชอบโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็น หลวงสุรินทรภักดี


   ในปี พ.ศ. ๒๓๐๖ หลวงสุรินทรภักดี หรือ เชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้ เจ้าเมืองพิมาย กราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จากสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ ๒ ชั้น มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดี ได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็นเมืองประทายสมันต์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทร์ภักดีเป็น พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์ เป็น เมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองเมืองสุรินทร์ 
จังหวัดสุรินทร์มีความภาคภูมิใจในการเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงอารยธรรมขอมโบราณ และเป็นที่มาของวัฒนธรรมการทอผ้าไหมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกัมพูชา และผ้าไหมสุรินทร์ที่กำลังมีชื่อเสียงเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ คือ ผ้าไหมยกทองโบราณ บ้านท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผ้าไหมที่ใช้ตัดเสื้อให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค นอกจากนี้ จังหวัดสุรินทร์ยังเป็นดินแดนที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในประเทศและของโลก จนคณะรัฐมนตรีมีมติให้จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่องในเรื่องการเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔

 และความภาคภูมิใจที่สำคัญที่สุด คือช้าง

จังหวัดสุรินทร์มีความเป็นมาได้ก่อร่างสร้างเมืองเกี่ยวเนื่องกับช้าง เป็นจังหวัดที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทย คนสุรินทร์เลี้ยงช้างเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว จึงมีวิถีชีวิต มีความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ซึ่งแตกต่างจากการเลี้ยงช้างในจังหวัดอื่น ๆ ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นมงคล เฉลียวฉลาด ชื่อสัตย์ อดทน กล้าหาญ ในอดีตช้างเคยเป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์ในการทำศึกสงคราม ในปัจจุบันช้างเป็นสัตว์ที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศในนาม “สุรินทร์ เมืองช้าง” มีงานแสดงช้างสุรินทร์เป็นงานประจำปีของชาติ มีหมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ตั้งอยู่ใกล้ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะสลับป่าโปร่ง เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง และเป็นที่อาศัยของกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง ที่เรียกตัวเองว่า “กวย” หรือ “กูย” ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้าง ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้างมาแต่ดั้งเดิม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งปัจจุบัน จนเป็นที่รู้จักในนาม “หมู่บ้านช้าง” ในอาณาบริเวณเขตตำบลกระโพมีช้างรวมกันอยู่ประมาณ ๓๐๐ เชือก

   บ้านตากลาง...ถิ่นช้างเมืองสุรินทร์หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๔ เส้นทางสายสุรินทร์ – ร้อยเอ็ด เลี้ยวซ้ายเมื่อถึง กม. ๓๖ เข้าปากทางบ้านกระโพ ลึกเข้าไปตามถนนลาดยางบนที่ราบใกล้แม่น้ำมูล และลำห้วยน้ำชี ระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ก็จะถึงเขตหมู่บ้านช้าง พื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านช้างส่วนใหญ่จะเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกลับป่าโป่ง อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด ทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นป่าดงดิบสายทอ ทิศตะวันตกเป็นป่าดงดิบภูดิน ทิศเหนือของหมู่บ้านมีแม่น้ำ ๒ สายไหลมาบรรจบกัน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง บริเวณนี้จึงเหมาะสมกับการเลี้ยงช้างอย่างที่สุด

ชาวกวยเป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีมายาวนาน รักสงบ รักอิสระ มีความสามัคคี เป็นคนมีระเบียบวินัย มีเอกภาพในสังคม มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน คือความอลังการอันน่าอัศจรรย์ ผสมผสานระหว่างคนกับช้าง

ก่อนปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ชาวกวยที่นี่จะมีอาชีพหลักคือ จับช้างป่ามาฝึกหัดไว้ใช้งาน ส่วนการทำนาจะทำเป็นอาชีพรอง คือทำเพียงแค่พออยู่พอกิน ในอดีตชาวกวยจะออกไปจับช้างปีละ ๒ – ๓ ครั้ง ๆ ละ ๒ – ๓ เดือน ซึ่งส่วนมากมักจะเดินทางไปจับในดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชา 

    หลังจากปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชาและลาวได้ปิดพรมแดนลง ชาวกวยที่มี่อาชีพหลักคือ การจับช้างป่า ไม่สามารถไปจับช้างป่าเหมือนในอดีตได้ ก็หันมาทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงช้างอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข ช้างและคนได้อยู่ด้วยกันฉันพี่น้อง มีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น การเลี้ยงช้างของชาวบ้านบ้านตากลางเป็นการเลี้ยงในลักษณะที่ช้างเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลาน คนกับช้างมีความรักใคร่ผูกพันรู้จิตใจกันดังญาติสนิท แตกต่างจากการเลี้ยงช้างที่อื่นซึ่งเป็นเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน



     ปัจจุบันแม้ชาวบ้านตากลางจะไม่ไปจับช้างแล้ว แต่ยังมีหมอช้างที่สืบทอดภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์อยู่ ผู้ที่ต้องการศึกษา เรียนรู้ ท่องเที่ยว สามารถพบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ ในการจับช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา ชีวิตของหมอช้างเป็นชีวิตที่ต้องมีความกล้าหาญอย่างยิ่ง ชาวบ้านตากลางเป็นผู้มีความสงบเสงี่ยมสำรวม พูดน้อย ถ้าได้สนทนาด้วยแล้วจะทราบว่าเขาคือนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ บ้านตากลางยังเป็นสถานที่ฝึกช้างสำหรับแสดงในงานแสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์เป็นประจำทุกปี และบ้านตากลางยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์คชศึกษา” พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับช้าง ภายใต้ศูนย์มีนิทรรศการประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง เช่น ทำจากเชือกประกำ เชือกคล้องช้างที่ทำจากหนังควาย ฯลฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ และช่วงที่น่าไปเยี่ยมหมู่บ้านช้างมากที่สุดคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคมเพราะควาญช้างจะกลับมาเก็บเกี่ยวข้าว และนำช้างมาร่วมงานแสดงของจังหวัด ซึ่งจะมีช้างกลับมาอยู่บ้านเป็นจำนวนมาก

แม้ว่าในปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไป ป่ารอบๆ หมู่บ้านที่เคย

อุดมสมบูรณ์ในอดีต ได้เสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา พื้นที่เลี้ยงช้างในอดีต ถูกบุกรุกจากราษฎรในพื้นที่

เข้าปลูกยูคาลิปตัส ทำให้พืชอาหารช้างลดลง จึงเป็นสาเหตุทำให้คนเลี้ยงช้างของจังหวัดสุรินทร์ ต้องนำช้างออกไปรับจ้างอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และเร่ร่อนเลี้ยงชีพอยู่ในสังคมเมือง ซึ่งเป็นที่มาของ โครงการพัฒนาหมู่บ้านช้างสุรินทร์ ซึ่งประกอบไปด้วยแผนแม่บทพัฒนาหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก , โครงการช้างคืนถิ่นพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด ฯลฯ เพื่อให้ช้างและควาญช้างได้กลับมาอยู่ที่หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ตลอดไป


อ้างอิง: http://www.surin.go.th



ประวัติ / ความเป็นมา งานช้างสุรินทร์



          ในสมัยโบราณในแถบพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์ มีช้างอาศัยอยู่มากมาย ขณะเดียวกันจังหวัดสุรินทร์ก็มีชาวพื้นเมืองที่มีความชำนาญในการจับช้างป่ามาฝึกหัดทำงาน เรียกว่า พวก "ส่วย"  

ชาวส่วยเป็นชาวพื้นเมืองที่กล่าวกันว่า เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ได้อพยพมาจากเมืองอัตขันแสนแป ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองจำปาศักดิ์ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปัจจุบัน ชาวพื้นเมืองเหล่านี้เป็นเผ่าที่ชอบเลี้ยงช้าง เป็นผู้ริเริ่มในการจับช้างป่ามาฝึกเพื่อใช้งานและเป็นพาหนะเดินทางขนส่งในท้องถิ่น การไปจับช้างในป่าลึกโดยใช้ช้างต่อ เรียกว่า "โพนช้าง"ที่หมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ชาวส่วยกลุ่มนี้ได้เข้าไปอยู่บนเนิน เขตรอยต่อระหว่าง ดงสายทอและดงรูดินใกล้ๆ กับบริเวณที่ลำน้ำชี้ (ชีน้อย) อันเป็นลำน้ำที่แบ่งเขตระหว่างจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ และลำน้ำมูลไหลมาบรรจบกัน โดยสภาพพื้นที่ดังกล่าวในอดีตได้ตัดขาดจากโลกภายนอกเกือบสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้การผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมอื่นจึงมีน้อย ชาวส่วยเกือบทั้งหมดในเขตพื้นที่นี้ ยังมีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของตนเองอยู่ โดยเฉพาะการเลี้ยงช้าง เป็นอาชีพหลักที่สำคัญที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษในสมัยโบราณ ซึ่งไม่อาจสืบค้นได้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด โดยชาวส่วยเหล่านี้จะพากันออกไปจับช้างในเขตประเทศกัมพูชามาฝึกให้สามารถใช้งานได้แล้วขายให้กับพ่อค้าจากภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อนำไปลากไม้ในป่าจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2502 ได้เกิดพิพาทระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา การเดินทางไปจับช้างจึงยุติลง และในที่สุดก็ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิงในราวปี พ.ศ.2506 ในขณะเดียวกันชาวบ้านบางส่วนได้หันมาฝึกช้างจากการเป็นสัตว์ใช้งานมาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านเช่นเดียวกับ แมวและสุนัข และฝึกสอนให้แสดงกิริยาต่างๆ เลียนแบบคน เพื่อจะได้นำไปแสดงในที่ต่างๆ แทนการขายไปทั้งตัว จนกระทั่งทางจังหวัดสุรินทร์ และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ชื่อในขณะนั้น) ได้มองเห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมการแสดงของช้างเป็นงานประจำปี ของจังหวัดสุรินทร์และประเทศไทยขึ้น โดยจัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.2504  เป็นต้นมาแต่ก่อนที่จะมีงานช้างซึ่งถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ซึ่งได้จัดติดต่อกันมาเกือบ 40 กว่าปีล่วงมาแล้ว นายท้าว ศาลางาม หมอช้างระดับครู ขาใหญ่แห่งหมู่บ้านกระเบื้องใหญ่ อำเภอชุมพลบุรี ได้เล่าถึงความเป็นมาของงานช้างว่า.. 

          ในปี พ.ศ.2498 นั้นมีข่าวลือว่า จะมีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์มาลงที่หมู่บ้านตากลางหรือหมู่บ้านช้างในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ชาวบ้านนานๆ จะได้เห็นยวดยานพาหนะประเภทรถยนต์ และเครื่องบินผ่านไปในเขตพื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของตน จึงแตกตื่นไปทั่วตำบล มีการชักชวนกันไปดูเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และเนื่องจากชาวบ้านในตำบลกระโพ เกือบทุกหมู่บ้านมีอาชีพสำคัญคือการเลี้ยงและออกจับช้างป่ามาฝึกขาย จึงมีช้างเกือบทุกครัวเรือน โดยเป็นทั้งพาหนะและสินทรัพย์ที่สำคัญของชาวบ้านแถบนั้นการเดินทางไปดูเฮลิคอปเตอร์ในครั้งนั้นจึงใช้ช้างเป็นพาหนะ

เมื่อไปถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์แล้วปรากฏว่ามีช้างจำนวนมากมายรวมกันแล้วนับได้ประมาณ 300 เชือก สร้างความตื่นเต้นประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมากจนกระทั่งในปี พ.ศ.2503 นายวินัย สุวรรณกาศ นายอำเภอท่าตูม สมัยนั้น ได้ให้นำช้างเหล่านี้มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมแสดงในงานฉลองที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ณ บริเวณสนามบินเก่าท่าตูม คือ บริเวณโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ในปัจจุบัน การแสดงครั้งนั้นได้จัดขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503มีการเดินขบวนพาเหรดของช้าง การแสดงการคล้องช้าง และการแข่งขันช้างวิ่งเร็ว มีช้างเข้าร่วมในการแสดงประมาณ 60 เชือก จากการแสดงคราวนั้น ทำให้มีการประชาสัมพันธ์แพร่ภาพทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เผยแพร่ไปทั่ว ทำให้เกิดความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ชื่อเดิมของ ททท.)จึงเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยว่าการแสดงของช้างที่จังหวัดสุรินทร์ในครั้งนั้น นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากของจังหวัด และประชาชนทั่วไปก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่มีโอกาสหาชมได้น้อย จึงเห็นสมควรที่จะเผยแพร่งานแสดงของช้างไปสู่วงกว้าง โดยเสนอให้งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีของจังหวัด และให้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีการกำหนดวันให้แน่นอนตามปฏิทินทางสุริยคติ และจัดรูปแบบงานให้มีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อจะได้มีเวลาในการโฆษณาเชิญชวนไปยังต่างประเทศ อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศให้แพร่หลายไปด้วย

    ดังนั้น ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2504 จังหวัดสุรินทร์จึงได้ร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานแสดงของช้างขึ้น เป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง โดยยังคงจัดที่อำเภอท่าตูม ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 52 กิโลเมตร

    จากผลการจัดงานแสดงของช้างดังกล่าว ได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงได้รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้งานเสดงของช้างเป็นงานประจำปีของชาติ และคณะรัฐมนตรี ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2505 เป็นต้นมา งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์จึงกลายเป็นงานประจำปีของชาติ และเป็นงานประเพณีที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาจังหวัดสุรินทร์จนกระทั่งปัจจุบัน





กิจกรรม / พิธี













          การแสดงของช้างมีด้วยกันทั้งหมด 8 ฉาก อาทิเช่น ชุดโขลงช้าง พิธีเซ่นผีปะกำ การโพนช้าง และการฝึกช้างป่า ช้างทำงาน และการละเล่นของช้าง ประเพณีวัฒนธรรมของส่วยหรือชนชาวกุย ขบวนช้างแห่นาค ช้างแข่งขันกีฬา ช้างเตะตะกร้อ ช้างชกมวย การประกวดช้างสวยงาม และการแสดงของช้างอื่นๆ อีกมากมาย  นอกจากการแสดงของช้างแล้วยังมีการจัดนิทรรศการ การประกวดผลผลิตทางการเกษตร การประกวดของดีเมืองสุรินทร์ การออกสลากกาชาด การออกร้านงานช้างแฟร์ ทำให้ผู้ร่วมงานครั้งนี้สนุกสนานกันถ้วนหน้า

          การแสดงของช้างเริ่มด้วยฉากแรกชื่อว่า "จ่าโขลง" แสดงให้เห็นถึงชีวิตของช้างป่าตามธรรมชาติซึ่งอยู่รวมกัน การแสดงครั้งนี้ก็จะปล่อยช้างออกมาบริเวณสนามแสดงช้างหลายสิบเชือก โดยไม่มีควาญช้างบังคับ เพื่อให้สมจริงสมจังกับการเป็นช้างป่า เมื่อมีช้างป่าชาวบ้านก็มีความต้องการที่จะจับช้างมาเลี้ยงไว้ใช้งาน แต่การจับช้างของชาวบ้านไม่ใช่อยู่ๆ ก็จับมาเลย ต้องมีการทำพิธีกันเสียก่อน ฉากต่อมาจึงมีชื่อชุดว่า "กวย" ฉากนี้แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านต้องทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ผีปะกำ ก่อนออกไปคล้องช้างตามความเชื่อที่ว่า ช้างแต่ละเชือกมีผีปะกำดูแลอยู่ ดังนั้นหน้าบ้านของคนเลี้ยงช้างทุกบ้านจะมีศาลปะกำเพื่อไว้เป็นที่เก็บเชือกกำปะกำและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้  โดยแสดงให้เห็นถึงการประกอบพิธีอย่างโบราณ ด้วยการให้หมอเฒ่า หรือปะกำหลวงมาแสดงให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมไปด้วย แต่น่าเสียดายที่ผู้ชมกับผู้แสดงอยู่ห่างกันมาก ทำให้ไม่เห็นรายละเอียดบางอย่างอย่างใกล้ชิด เช่น การสวด สีหน้า ท่าทางของผู้ประกอบพิธี 

          เมื่อเสร็จพิธีดังกล่าวชาวบ้านก็จะออกไปคล้องช้างกันการเข้าไปคล้องช้างในป่าจะกินเวลานานถึง 2-3 เดือน ฉะนั้นผู้ที่คล้องช้างจึงต้องเป็นผู้ชาย และผู้ที่คล้องช้างได้ก็จะเป็นที่ยอมรับนับถือในความเป็นชายเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เป็นที่หมายปองแก่บรรดาสาวๆ และที่สำคัญช้างเชือกหนึ่งมีราคาไม่ใช่น้อย ดังนั้น การคล้องช้างได้ถือเป็นการยกฐานะของคนที่คล้องช้างได้ไปในตัวด้วย

ฉากต่อมาชื่อชุดว่า "จากป่าสู่บ้าน" เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีการคล้องช้าง ผู้ชำนาญจะคล้องช้างที่เป็นแม่ลูกอ่อน เพราะถ้าหากคล้องลูกช้างได้ก็เหมือนกับได้ตัวแม่ด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าแม่ช้างจะห่วงลูกน้อยทำให้ไม่ยอมไปไหน การแสดงฉากนี้คนก็ลุ้นอยากให้คนคล้องช้างได้ หลายคนก็ลุ้นให้ช้างหลุดรอดไปได้ ซึ่งคนดูทุกคนจะตื่นเต้นสนุกสนาน การแสดงฉากนี้ดูเหมือนว่าจะคล้องช้างไม่ได้เสียมากกว่า เพราะช้างที่แสดงเป็นช้างบ้านที่ฉลาด ได้รับการฝึกฝนมาแล้วจึงรู้วิธีหลบหลีกเป็นอย่างดี คนที่ลุ้นให้ช้างรอดก็โล่งใจกันเป็นแถว

"สร้างบ้าน แปงเมือง" เป็นการแสดงในฉากต่อมา โดยนำช้างออกมาแสดงความสามารถทั้งการใช้งาน เช่น การลากซุง และการแสดงตามคำสั่งต่างๆ ซึ่งก็น่ารัก น่าเอ็นดู เพราะช้างตัวใหญ่อุ้ยอ้ายการที่จะต้องมาแสดงท่าทางเลียนแบบคน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ว่าจะเป็นลูกช้างไต่ราว การให้ช้างนั่งบนถังในท่านั่งเหมือนคนหรือเดินสองขาเหมือนคน 

ในขณะที่การแสดงของช้างดำเนินอยู่ ก็จะมีเด็กๆ ทั้งผู้หญิงผู้ชายแต่งกายชุดพื้นบ้านมาแสดงการละเล่นของเด็กในสมัยก่อนที่มักจะหาของเล่นจากวัสดุในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเดินกะลา ล้อไม้ ม้าก้านกล้วย เดินโทงเทง ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน

แต่ที่น่าชมและชอบใจของคนดูทั้งสนามก็คงจะเป็นช้างชกมวย ไม่ใช่ช้างชกกับช้าง แต่เป็นช้างกับคน โดยเขาจะใส่นวมที่งวงช้างเพื่อให้ชกแทนการใช้มืออย่างคน การชกเป็นไปอย่างดุเดือดเพราะแต่ละหมัด(งวง) ของช้างหนักหน่วง จนทำให้คนต้องลงไปนอนให้กรรมการนับหลายครั้ง และก็ปรากฏว่าช้างชนะน็อคไปตามระเบียบ ดัวยหมัดฮุคอย่างรุนแรง เป็นที่สนุกสนานเฮฮาของคนดู  

        หลังจากการแสดงอันแสนรู้ของช้างผ่านไปแล้ว ก็เป็นการแสดงคนในชื่อชุดว่า "ประเพณี" เป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวสุรินทร์ คือ การแสดงเรืออันเร และการแห่บั้งไฟ   การแสดงเรืออันเร ประกอบด้วยดนตรีพื้นบ้านคือ กันตรึม การรำคล้ายกับการรำลาวกระทบไม้ การแห่บั้งไฟ เป็นประเพณีของชาวอีสานที่แห่บูชาพญาแถนเพื่อขอฝน ขบวนแห่ในวันนั้นมีการจัดไว้อย่างสวยงาม มีผู้ร่วมขบวนนับร้อย ทุกคนล้วนแต่งกายสีสันสดใสด้วยผ้าพื้นเมือง ฝีมือการทอของชาวบ้านเอง

การบวชนาค เป็นอีกฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของช้าง เพราะคหบดีในสมัยก่อนนิยมใช้ช้างร่วมแห่นำในขบวนแห่นาค และการแห่นาคที่จังหวัดสุรินทร์จะต่างจากที่อื่นตรงที่นิยมให้มีการรำมวยไทยนำหน้าขบวนแห่นาค และมีวงมโหรีอยู่บนหลังช้าง ปิดขบวนด้วยระนาด ฆ้อง ปี่ และตะโพน เมื่อบวชนาคแล้วต้องมีการฉลองพระใหม่ ก็ได้มีการแสดงชื่อชุดว่า "ฉลองพระ" ซึ่งสมัยก่อนการฉลองพระเป็นการแข่งขันและเล่นเกมของคน แต่ต่อมาใช้ช้างเล่นแทน ซึ่งก็ให้ความสนุกสนานไม่แพ้คนเล่นเอง

การแข่งขันของช้างมีหลายเกม คือ ช้างวิ่งแข่ง ช้างเตะฟุตบอล ช้างเก็บของ สิ่งเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่า  ช้างเชือกไหนฉลาดและเชื่อฟังคำสั่งของควาญช้าง โดยเฉพาะเขาวางน้ำอัดลม แตงโม กระติ๊บข้าว กล้วย ช้างบางเชือกก็เก็บของเหล่านี้ให้ควาญช้างทั้งหมด แต่ก็มีบางเชือกเก็บเข้าปากตัวเอง เพราะของที่เก็บไม่ว่าจะเป็นกล้วยหรือแตงโม ล้วนแต่เป็นของโปรดของช้างทั้งนั้น ซึ่งก็สร้างความครื้นเครงให้กับคนดูพอสมควรในความเจ้าเล่ห์ของช้างบางเชือก

ที่สนุกสนานที่สุดเห็นจะเป็นตอนช้างเตะฟุตบอล ซึ่งแบ่งช้างออกเป็น 2 ทีม มีฟุตบอลขนาดใหญ่ เหมาะสมกับตัวของช้างมาเตะกันจริงๆ เกมการแข่งขันจะดูวุ่นวาย เพราะช้างบางตัวขี้โกงใช้งวงอุ้มลูกฟุตบอล แทนที่จะเตะฟุตบอล สร้างความขบขันให้กับคนดูเป็นอย่างมาก

และการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาก็มาถึง ในฉากที่ชื่อว่า "บารมีปกเกล้า" ฉากนี้แสดงให้เห็นถึงขบวนพยุหยาตราทัพ อันเป็นแสนยานุภาพพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกป้องบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขในอดีต ซึ่งมีช้างเป็นกำลังสำคัญในการแสดงแสนยานุภาพนั้น ฉากนี้นับเป็นฉากที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยผู้แสดงนับพัน การแต่งกายก็สมจริง ทำให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมเป็นอย่างยิ่ง





งานแสดงช้างประจำปี จังหวัดสุรินทร์



     ประวัติของงานช้างเริ่มขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านช้างได้มีการจัดงานฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ และนายอำเภอในขณะนั้นได้เชิญชวนให้ชาวกูยที่มีอาชีพเลี้ยงช้างได้นำช้างของ ตนมาจัดแสดงและจัดขบวนแห่ช้างให้ประชาชนทั่วไปได้ชม ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปอย่างมาก และกลางคืนจะมีมหรสพสมโภชตลอดคืน และได้กลายเป็นงานช้างประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ และโด่งดังไปทั่วโลก งานช้างจังหวัดสุรินทร์จัดขึ้นประมาณกลางเดือน พฤศจิกายนของทุกปีและมีงานกาชาดจังหวัดจัดแสดงประมาณ 1 สปดาห์ ส่วนงานแสดงช้างจะเป็นช่วงวันเสาร์และอาทิตย์



งานเลี้ยงอาหารช้าง การเซ่นไหว้ จ.สุรินทร์



 



    เยี่ยมชมหมู่บ้านช้างชาวกูย หมู่ที่ 9 และ หมู่ 13 บ.ตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข 214 (ถนนสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ผ่านอำเภอจอมพระ วิ่งมาเรื่อยก่อนถึงอำเภอท่าตูม มีทางแยกซ้ายมือบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 36 ให้ไปตามทางราดยางอีกประมาณ 22 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกหมู่บ้านช้างชาวกูยยินดีต้อนรับ

อ้างอิง :http://www.thaibizcenter.com

1 ความคิดเห็น:

  1. ข้อมูลเชื่อถือได้ครับ คนรุ่นหลังๆจะได้ศึกษาที่มาของความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของงานระดับโลกนี้ ดีกว่าปล่อยให้หลงอยู่แต่กับปัจจุบัน จน ไม่เหลียวเห็นอดีตเอาเสียเลย

    ตอบลบ