หน้าเว็บ

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง สุรินทร์ กับทริปที่น่าสนใจ

หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง สุรินทร์


ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง เป็นสถานที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพัน ของคนในชุมชนและช้าง รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านตากลาง แต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกัน จนช้างที่พวกตนเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันที่แน่นเฟ้นขึ้น ระหว่างคนกับช้าง ณ บ้านตากลาง จ. สุรินทร์ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
ชาวบ้านตากลาง ดั้งเดิมเป็น ชาวส่วย (กูย) หรือ กวย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านตากลาง ไม่สามารถไปคล้องช้าง เช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้าง และฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปี
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
ลักษณะการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง เหมือนการเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังจะได้สัมผัสการดำรงชีวิตของ ชาวส่วย พร้อมทั้งจะได้พบปะพูดคุยกับหมอช้าง ที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา รวมทั้งยังสามารถเดินทางชมจุดบริเวณที่แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลไหลมารวมกัน ซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่งดงามน่าพักผ่อนหย่อนใจ และชวนให้ศึกษาในเชิงของธรรมชาติด้วย
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จ.สุรินทร์ เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมูบ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว ซึ่งจัดให้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของคนกับช้างโดยมีทั้งบ้าน เรือนของชาวบ้านหรือที่เรียกว่าควานช้าง และมีที่อยู่ของช้างอยู่ทั่วบริเวณเป็นวิถีชีวิตที่น่าทึ่งมากๆ  ไม่ว่าเราจะเดินไปบริเวณไหนเราก็จะพบเห็นช้างอยู่แทบทุกที่ ซึ่งช้างแต่ละตัวก็เป็นช้างแสนรู้น่ารัก ไม่ดุร้าย  และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน  เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช้างกับคนอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
โดย ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
สนามแสดงช้างแสนรู้ จะมีการแสดงความสามารถอันเฉลียวฉลาดและน่ารักของช้างในศูนย์ฯ อาทิ ช้างเต้นรำ ช้างวาดรูป ช้างปาลูกโป่ง ช้างเตะฟุตบอล ฯลฯ โดยจะเปิดการแสดงทุกวัน วันละ ๒ รอบ คือ ๑๐.๓๐ น. และ ๑๔.๓๐ น. ไม่เว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นสถานที่แสดงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับช้าง อาทิ วิวัฒนาการของช้าง ช้างในยุคต่างๆ โครงกระดูกช้าง โรคที่เกี่ยวข้องกับช้าง เครื่องมือในการคล้องช้าง ภาพวิธีการจับช้างในรูปแบบต่างๆ ลักษณะสำคัญของช้าง อาหารและยาสมุนไพรช้าง วิถีความผูกพันระหว่างคนกับช้าง พิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับช้าง ขั้นตอนวิธีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับช้างที่เสียชีวิต วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวกวยหรือกูย เป็นต้น
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
ศาลปะกำ ที่เป็นเสมือนเทวาลัยสิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำ ตามความเชื่อของ ชาวกวย หรือ กูย นิยมปลูกสร้างไว้ในชุมชนคุ้มบ้าน นักท่องเที่ยวสามารถไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์จาก ศาลปะกำ กันได้ ซึ่งเชื่อกันว่า ขอสิ่งได้ ได้สมปรารถนาดั่งที่ตั้งใจไว้
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
วังทะลุ ห่างจากหมู่บ้านช้างเพียง 3 กิโลเมตร ที่นี่เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหล และลำน้ำชี มาบรรจบกัน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่จังหวัดอุบลราชธานี “วังทะลุ” เป็นสายน้ำที่แวดล้อมไปด้วยป่าที่กว้างใหญ่ไพศาล ก่อให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่งดงามซึ่งหาชมได้ยาก ยังมีความอุดมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นที่อาบน้ำของช้างในหมู่บ้านยามเย็น
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
การแสดงช้างที่ ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง จ.สุรินทร์ มีทุกวัน วันละ 2 รอบ
รอบเช้า เวลา 10.00น.
รอบบ่าย เวลา 14.00น.
ค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ คนละ 50 บาท
เด็กโต คนละ 20 บาท
เด็กเล็ก คนละ 10 บาท
ชาวต่างชาติ คนละ 100 บาท
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
นอกจากการแสดงของช้างแล้ว ยังมีการแสดงงู ภายในหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง จ.สุรินทร์ ซึ่งการแสดงจะเริ่มหลังจากชมการแสดงของช้างแสนรู้จบลง ซึ่งเสียค่าเข้าชมการแสดงคนละ 20 บาท
หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
การเดินทาง
การเดินทางมายัง ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง จากกรุงเทพใช้เส้นทาง กรุงเทพ- สระบุรี-นครราชสีมา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพแล้วแยกเลี้ยวขวาเข้าทางหมายเลข 206 เส้นทาง ไป อำเภอพิมายแยกซ้ายเข้าทางหมายเลข 2175 ไปชุมพวงผ่านอำเภอแคนดง-สตึก-ชุมพลบุรี
จากชุมพลบุรี ตรงไปยัง อำเภอท่าตูม ทางหมายเลข 2018 ประมาณ 12 กิโลเมตร จะมีทางเลี้ยวขวาลัดไปยังหมู่บ้านช้างบริเวณบ้านกระสัง ไปบ้านยางบภิรมย์ แล้วตรงไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง เส้นทางสะดวกเป็นถนนทางลาดยางตลอดสาย และยังมีป้ายบอกตลอดการเดินทาง
แผ่นที่หมู่บ้านช้าง สุรินทร์
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมและจองการแสดงล่างหน้า ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง จ.สุรินทร์ โทร 044-517461  044-145050 และททท. สนง.สุรินทร์ โทร. 044-514447-8 044-518529

เรื่องเล่าขาน"มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์"



เรื่องเล่าขาน"มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์"





ศูนย์คชศึกษาหรือหมู่บ้านช้าง

       จังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศในนาม “ สุรินทร์ เมืองช้าง “ สืบเนื่องมาจากสุรินทร์มีกลุ่มผู้เลี้ยงช้างที่เรียกตัวเองว่า “ กูย “หรือ “ กวย “ ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้ใช้ภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์จับช้างเผือกซึ่งแตกโรงจากกรุงศรีอยุธยา นำน้อมเกล้าฯถวายคืนสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 จนได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ปกครองเมืองสุรินทร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2302 เป็นต้นมา และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ใกล้ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะสลับป่าโปร่ง เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง โคและกระบือ เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพเลี้ยงช้างเสริมอาชีพหลักในการทำนา ทำไร่ และเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านซึ่งแต่เดิมแทบทุกหลังเรือน จะเลี้ยงช้างไว้อย่างน้อยครัวเรือนละ 1 เชือก จนเป็นที่รู้จักกันในนาม “ หมู่บ้านช้าง ”



ช้างที่อาศัยอยู่กับชาวกูยภายในหมู่บ้านช้าง

     
  นับเป็นอีกจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์นั้นก็คือ วัฒนธรรมของการอยู่รวมกันของคนกับช้างซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแห่งเดียวในโลกของทางจังหวัดสุรินทร์ “ศูนย์คชศึกษา”หรือ ”หมู่บ้านช้าง “เป็นศูนย์รวมของสมาชิกชุมชนคนเลี้ยงโดยรอบและหมู่บ้านอื่นๆในจังหวัดสุรินทร์ ภายในบริเวณมีศูนย์คชศึกษามีอาคารพิพิธภัณฑ์ สถานที่แสดงเรื่องราวความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับช้าง จัดแสดงประเพณีและวัฒนธรรมรวมไปถึงเครื่องแต่งกายต่างๆของชาวกูย บรรพบุรุษของผู้คนจังหวัดสุรินทร์ที่มีวิถีชีวิตความผูกพันเคียงคู่ช้างตั้งแต่แสดงวิถีความผูกพันระหว่างคนกับช้างที่มีมาอย่างช้านาน ตั้งแต่เกิดจนตาย
      
       และยังมีลานจัดแสดงช้างให้นักท่องเที่ยวได้ชม ความสารถที่ชาญฉลาดของสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีทั้งความน่ารักและแสนรู้ ทั้งยังได้เห็นถึงการร่วมมือของคนกับช้างในการแสดงด้วยสร้างความประทับใจของผู้ชมได้ทุกรอบการแสดง ในบริเวณใกล้เคียงมีหมู่บ้านชาวกูย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชิวิตการเลี้ยงช้าง และยังมีร้านขายของที่ระลึกวัตถุมงคลที่ได้จากส่วนประกอบของช้าง เช่นงาและกระดูกช้างอีกด้วย รวมถึงมีศาลประกำอันศักสิทสิทธิ์ เทวาลัยที่สิงสถิทของวิญญาณบรรพบุรุษและผีประกำ ตามความเชื่อของชาวกุย เป็นที่เก็บรักษาหนังประกำและอุปกรณ์ในการคล้องช้างเป็นสถานที่ขอพรและเสี่ยงทายของชาวกุยก่อนทำกิจกรรมนั้นๆ ศูนย์คชศึกษาตั้งอยู่ที่ ต.กระโพ-ตากลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์


หนึ่งในฉากการเเสดงภายในงานเเสดงช้าง

 
      การจัดงานช้างครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 เนื่องในโอกาสฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ และจัดเป็นงานประจำปีของอำเภอท่าตูม ณ บริเวณสนามบินเก่า( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ ) ซึ่งมี นายวินัย สุวรรณกาศ เป็นนายอำเภอในขณะนั้น ในงานมีการแสดงขบวนแห่ช้าง การแสดงการคล้องช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็ว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก จากการจัดงานในครั้งนั้น และได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ทำให้เกิดความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทาง อสท. ( ในขณะนั้น ) จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุน โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกช้าง กำหนดรูปแบบการแสดงให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติตามที่ อสท. เสนอให้การจัดงานช้างเป็น งานประจำปีของชาติ ซึ่งนายคำรณ สังขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ในขณะนั้น พิจารณาเห็นว่าการจัดงานที่อำเภอท่าตูม นักท่องเที่ยวไม่สะดวกในการเดินทางไปชม จึงได้ย้ายสถานที่จัดงานจากอำเภอท่าตูมมาจัดที่สนามกีฬาจังหวัดสุรินทร์ และจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ปี 2555 ถือเป็นการจัดงานเป็นปีที่ 52 ปี 2555


กิจกรรมการประกวดรถอาหารช้าง
    
   จังหวัดสุรินทร์ ได้กำหนดจัดงานช้างและกาชาดสุรินทร์ในปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 14 -25 พฤศจิกายน 2555 ณ สนามศรีณรงค์ และการแสดงช้างในวันที่ 17 - 18 พฤศจิกายน 2555 ณ สนามแสดงช้างสุรินทร์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ ส่งเสริมสนับสนุนขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดสุรินทร์ และอนุรักษ์การแสดงช้างสุรินทร์ให้ยั่งยืนตลอดไป รวมทั้งให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 เวลา 17.00 น. ที่บริเวณร้านธารากาชาด ณ สนามกีฬาศรีณรงค์ โดยในระหว่างในระหว่างวันที่ 14- 25 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นงานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ มีการจัดนิทรรศการ การออกร้านของส่วนราชการ การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP การแสดงดนตรีของศิลปินชื่อดัง และการออกร้านกาชาด
      
       ส่วนการจัดงานแสดงของช้างถือเป็นไฮไลท์ของงาน ซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ และเป็นงานประจำปีของชาติ โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 52 ตรงกับวันเสาร์ที่ 17 และวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555 ณ สนามแสดงช้าง ระหว่างเวลา 08.30 น. -11.30 น. วันละรอบ ในปีนี้ได้ปรับปรุงรูปแบบทั้งอัฒจันทร์นั่งชมที่กลมกลืนกับธรรมชาติ และการแสดงให้มีความกระชับสมบูรณ์และต่อเนื่อง แต่ยังคงความยิ่งใหญ่ตระการตาของฉากการแสดงในแต่ละฉากเหมือนดั้งเดิม อาทิ ฉากที่ 1 หรือองก์ ที่ 1 “ คชสารรวมใจ ถวายชัยองค์ราชันย์ ”เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอลังการของช้างจังหวัดสุรินทร์ โดยจะให้ช้างเดินวนอยู่ในสนามเป็นทะเลช้างกว่า 200 เชือก และแสดงออกให้เห็นถึงการเทิดทูนและเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา โดยรวมทั้งสิ้น 7 ฉากการแสดง


กิจกรรมนั่งช้างชมเมือง
      
 นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมประกอบในช่วงการจัดงานที่หน้าเที่ยวชมและยิ่งใหญ่ พบกับกิจกรรมงานต้อนรับช้างและเลี้ยงอาหารช้างระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน 2555 และกิจกรรมการประกวดรถอาหารช้างจัดขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป จัดขบวนแห่รถอาหารช้างรอบเมืองสุรินทร์ ก่อนที่จะมารวมตัวกันที่ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางโดยจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดรถอาหารช้างอย่างสวยงามร่วมเข้าประกวดในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เพื่อชิงรางวัล
      
       ปิดท้ายด้วยกิจกรรมการแสดงแสง สี เสียง “ ตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ “ จัดขึ้น 2 วัน 2 รอบด้วยกันคือวันที่ 16 - 17 พ.ย. 2555 เริ่มเวลา 18.00 น. ณ บริเวณปราสาทศีขรภูมิ อ. ศีขรภูมิ จ. สุรินทร์ และกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวนั่งช้างชมเมือง หรือแท็กซี่ช้าง โดยจะมีจุดให้บริการอยู่หลายจุดเช่นสถานีรถไฟ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ตามถนนสายหลัก และตามจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งจะให้บริการทุกวันตลอดระยะเวลาการจัดงาน ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก